วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

คัมภีร์ชวดาร


ในคัมภีร์นี้ กล่าวถึง ลม ที่บังเกิดโทษแต่มนุษย์ ทั้งหลาย จะเกิดสรรพโรคต่างๆ ก็อาศัยโลหิตและลม บังเกิด โทษให้ถึงตาย เป็นอันมากนั้น เพราะ แพทย์มิได้กำหนดรู้อุปมาเหมือน นายเรืออันประมาท ในท้องมหาสมุทร ลมพัดเรือแตกอัปปาง ก็เป็นเหยื่อแก่มัจฉา เป็นอันมาก ลมที่ให้โทษแก่มนุษย์ คือ
๑.     ลมอุทธังคมาวาตา  พัดขึ้นเบื้องบน

๒.    ลมอโธคมาวาตา    พัดลงเบื้องต่ำ แต่สะดือ ขึ้นถึงศีรษะ เรียกว่า เบื้องบน

หากลมทั้ง ๒ ระคนกันเข้าเมื่อใด โลหิตนั้นร้อนประดุจกันกับไฟ   อันเกิดได้วันละ ๑๐๐ ละ ๑,๐๐๐ หน  อาการ ๓๒ ก็พิกล   พรากจากที่อยู่ เตโชธาตุ  ก็ไม่ปกติ  เหตุที่ลมทั้ง ๒ ระคนกันได้ ให้โทษแก่มนุษย์ทั้งหลาย  ก็เพราะมนุษย์ทั้งหายได้บริโภคอาหารมิได้เสมอตามปกติ  คือ บางจำพวก  มากกว่าอิ่ม คือกินมากไป บางจำพวก ดิบ เน่า บูด หยาบ น้อยยิ่งนัก   บางจำพวกล่วงผิดเวลา  อยากเนื้อผู้อื่นยิ่งนัก อาการ ๘ จำพวกนี้ เป็นอาหารให้โทษ ใช่แต่เท่านั้น  บุคคลบางจำพวก ถูกร้อนมาก และถูกเย็นมาก เพราะเหตุดังกล่าวนี้  ลมอโธคมาวาตา จึงพัดขึ้นไปหาลม อุทธังคมาวาตา   บางทีลมอุทธังคมาวาตา  จึงพัดให้โลหิตเป็นฟอง อาการ ๓๒ จึงเคลื่อนจากที่อยู่
     ลมเกิดขึ้นในทิศเบื้องต่ำ คือ ลมอัมพฤกษ์และลมอัมพาต ลมทั้ง๒ นี้ บังเกิดแก่ ปลายแม่เท้าไปตราบเท่าเบื้องบน ทำให้หวาดหวั่นไหว ไปทั่ว ทั้ง ๖   สรีระกายย่อมถึงแก่พินาศเป็นอันมาก  ลมอัมพฤกษ์และลมอัมพาตทั้ง ๒ นี้  เป็นที่ตั้งแห่งฐามลมทั้งหลาย    อันบังเกิดได้วันละ ๑๐๐ และ ๑,๐๐๐ ครั้ง  
     ถ้าลมที้ง ๒ ระคนกันแล้วเมื่อใด รักษาเยียวยายากนัก  เพราะอาศัยลมอันหนึ่งชือ " หทัววาตะ" เกิดขึ้นในน้ำเลี้ยงหัวใจ บุคคลใดจะตาย ลม หทัยวาตะ ก็เกิดขึ้นในขณะนั้น
ลมมีพิษมาก ๖ จำพวก ดังนี้
๑.    ลมกาฬสิงคลี   จับให้หน้าเขียว  ขอบตาเขียว  บางทีจับให้ใจสั่น  บางทีให้ถอนหาย  ใจฮึดฮือ  บางทีดิ้นดุจตีปลา ให้ผุด เป็นวงดำ  เป็นวง เขียว วงเหลือง เท่าใบพุทรา เท่าแว่นน้ำอ้อย งบ กำหนด ๓ วัน
๒.    ลมชิวหาสดมภ์   เมื่อแรกให้หาวเรอ และให้เหียนขากรรไกรแข็ง   อ้าขบมิลง  ให้แน่นิ่งไป ไม่รู้สึกตัว ปลุกมิตื่น  กำหนด ๓ วันถึง ๗ วัน
๓.    ลมมหาสดมภ์   เมื่อจับ ให้หาวนอน เป็นกำลัง  ให้หวาดหวั่นไหว อย่าแต่ใจใจ  ให้นอนแน่นิ่งไป มิรู้สึกกาย
๔.    ลมทักษิณโรธ   เป็นไข้อันไดๆอยู่ก่อน แล้วจับเท้าเย็นมือเย็น ตามัว  ห้ามมิให้วางยาผาย ดิ้นรน หยุดอยู่มิได้  เจรจามิได้  ลิ้นกระด้างคางแข็ง แก้จงดี  ( ลมในกองไข้)
๕.    ลมติยาวิโรธ    เมื่อจับให้มือเท้าเย็น  เป็นลูกกลิ้งในท้อง  ให้จุกท้อง เหมือนสัตว์ตอด สัตว์กด  บางทีปวด แต่แม่เท้าขึ้นมาถึง หัวใจ  นิ่งแน่ไป ดุจดังพิษงูเห่า
๖.   ลมอีงุ้มอีแอ่น    เมื่อล้มไข้เหมือนสันนิบาต  เมื่อจับอีงุ้มงอไปข้างหน้า  อีแอ่นงอไปข้างหลัง  ถ้าลั่นเสียงดังเผาะเมื่อใด ตายเมื่อนั้น
ลมมีพิษ อีก ๖ จำพวก
๑.    ลมอินทรธนู    เมื่อจับไข้เหมือนดังรากสาด  เป็นวงล้อม  สะดือดำ   สะดือแดง  สะดือเขียว  สะดือเหลือง  เท่าวงน้ำอ้อยงบ  แต่ชายโครง ตลอดจนหน้าผาก  พิษนั้นอื้อคนึงอยู่แต่ในใจดังผีเข้าอยู่  ถ้าผู้หญิงเป็นซ้าย ชายเป็นขวา  อาการตัด ( ลมในกองไข้)  
๒.   ลมกุมภัณฑยักษ์   ถ้าลัมไข้ดุจดังสันนิบาต  เมื่อจับให้ชัก มือกำ ชักเท้างอ  มิได้สติสมปฤดี  เรียกมิรู้สึกตัวเลย  กำหนด ๑๑ วัน(ลมในกองไข้)
๓.   ลมอัศมุขี   เป็นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก  ให้ดิ้นร้องไป แล้วชักแน่นิ่งไป ไม่สมปฤด
๔.   ลมราทยักษ์   เมื่อล้มไข้ลงดุจดังสันนิบาต  เมื่อจับให้มือกำชักเท้ากำ  ลิ้นกระด้างคางแข็ง  กำหนด ๑๑ วัน  ( ลมในกองไข้)
๕.   ลมบาดทะจิต  เมื่อล้มไข้ลงดุจดังสันนิบาต  แรกจับให้ละเมอเพ้อพก  ว่านั้นว่านี่  ทำอาการ ดุจปีศาจเข้าสิงอยู่  บางทีว่าบ้าสันนิบาต   เหตุเพราะ จิตระส่ำระสาย  กำหนด ๑๑ วัน
๖.   ลมพุทธยักษ์   จับชักระสับกระส่าย  ให้ขบฟันเหลือกตา  มือกำเท้างอ  ปากเบี้ยว  ตาแหก  แยกแข้งแยกขา  ไม่มีสติสมปฤดี
     ลม ๖ จำพวกนี้ เยียวยายากนัก เป็นปัจฉิมที่สุดโรค  ให้ตรวจดูทางทวารหนัก ทวารเบา  ถ้ายังอุ่นอยู่ ให้แก้ต่อไป อนึ่ง เอานิ้วมือกดลงแล้วยกขึ้น ดู หาโลหิตมิได้   รอยนิ้วกดแล้วยกขึ้นไป  เป็นรอยเขียวซีด อาการหนักมาก ( อาการตัด)
    อนึ่ง  ในคัมภีร์ มหาโชติรัตน์ และคัมภีร์มหาชัยรัต  กล่าวไว้ว่า โลหิตให้โทษแก่สตรีคลอดบุตร  และชายต้องบาดแผล โลหิตตีขึ้น ให้ถึงแก่กรรม ตายเป็นอันมาก โลหิตทำพิษตีขึ้น ดังนี้ " ในคัมภีร์ชวตาร" ว่า แต่กำลังโลหิต โลหิตก็มิให้โทษ อนึ่งให้พิจารณาว่า ลมเกิด ณ ที่ใด ถ้าเกิดในเส้น ในเนื้อ และโลหิต กระดูก ผิวหนัง และหัวใจ จึงพิจารณา ลมนั้นก่อน แล้วจึงพิจารณายา ที่จะรักษาต่อไป และให้ประกอบยารักษา ตามอาการนั้นๆ
ลมพิเศษ ( ลมทั่วไป )
๑.   ลมปถวีกำเริบ   ลมพัดอาโปธาตุเป็นฟอง สำแดงโทษ บวมทุกสถาน
๒    ลมพัดในลำไส้   ให้เป็นลูกกลิ้งอยู่ในท้อง  ให้จุกอกเสียดแทงตามชายโครงทั่ว สรรพางค์กาย และเสียดหัวใจ( กลิ้งขึ้นกลิ้งลง)
๓.   ลมเข้าในลำไส้ใหญ่และลำไส้น้อย  มักชักให้มือกำ  ชักเท้า  ตัวแข็งงอ  จะบีบเข้าก็มิได้ จับสิ่งอันใด ก็มิได้ สมมุตว่า ลมตะคริว
๔.   ลมบาทาทึบ  ทั้งสลบทั้งลง  ทั้งอาเจียน  มิรู้ว่าสันนิบาตสองคลอง  ให้มือเขียวหน้าเขียว ให้ชักมิรู้ว่าป่วง ให้ลง กำหนด ๓ วัน
๕.   ลมพานไส้   อาการให้อาเจียน ให้จุกอก  ถ้าเป็นถึง ๗ เดือน  มักเป็นตัวเสียด  อยู่ซี่โครงข้างซ้าย  ให้ผอมเหลือง  พอใจอยากของดิบคาว ครั้นถึง ๓ ปี จะตาย
๖.   ลมพิษในลำไส้   ให้เวียนหัว  อาเจียน  จุกอก  ให้ปากหวานและเปรี้ยว  ถ้าเป็นแก่บุคคลผู้ใด  นานเข้ากลายเป็นตัว  เข้าเสียดชายโครงข้างซ้าย ครั้นนานหนักเข้าให้ผอมเหลือง
๗.  ลมตุลาราก  มักเกิดแต่คอหอย  ให้เหม็นคาวคอ  ถ่มน้ำลายอยู่บ่อยๆ จะหายใจ ให้ขัดอก ถ้าเกิดแก่บุคคลผู้ใด ได้ ๕ เดือน เสียตา จึงหาย
๘.  ลมกระษัยจุกอก  มักกลายเป็นบิด  และโลหิตและเสมหะ
๙.  ลมกำเดา  ให้วิงเวียน จักษุลาย  จักษุมืด จักษุฝ้าและขาว  ให้ศีรษะหนักซุนไป  และเจ็บศีรษะ เจ็บตา โทษลม ระคนกำเดา
๑๐. ลมผูกธาตุให้เป็นพรรดึก  ครั้นนานไป ก็กลายเป็นเสมหะ กลัดเข้าให้ผอมแห้ง  กายเหลือง ครั้นต่อไป นานก็กลายเป้นหอบ ไอ กินนมมิได้   อาโปธาตุกำเริบ  ทำให้บวม  แพทย์มิรู้ว่า เป็นริดสีดวง
ยารักษาลมที่สำคัญ ( ยาแก้ลม)      ๑.     ยาจิตรารมณ์
      ๒.     ยากล่อมอารมณ์
      ๓.     ยาวาตาพินาศ
      ๔.     ยาเขียวประทานพิษ
      ๕.     ยาชุมนุมวาโย
      ๖.     ยามหาสมมิทธิ์ใหญ่
      ๗.    ยาหอมสรรพคุณ
      ๘.    ยาสมมิทธิ์น้อย
      ๙.    ยานัตถุ์ธนูกากะ
      ๑๐   ยาประสะการบูร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น